บทคัดย่อ
เรี่อง อัตราปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่วพุ่ม
เมล็ดดำพันธุ์อุบลราชธานี (cv. CP 4-2-3-1)
Organic and Chemical Fertilizers Rate on Growth and Yield of
Ubonratchathani Black Grain Cowpea (cv. CP 4-2-3-1)
โดย นายมนต์ชัย แสงกล้า
ชื่อปริญญา วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์)
ปีการศึกษา 2558
อาจารที่ปรึกษา อาจารย์โดม หาญพิชิตวิทยา
การศึกษาอัตราปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่วพุ่มเมล็ดดำพันธุ์ อุบลราชธานี (cv. CP 4-2-3-1) วางแผนการทดลองแบบ Randomize Complete Block Design (RCBD) ประกอบไปด้วย 5 กลุ่มทดลอง 1) ไม่ใส่ปุ๋ย 2) ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ 3) ปุ๋ยคอก (มูลไก่) 400 กิโลกรัมต่อไร่ที่ 4) ปุ๋ยคอก (มูลไก่) อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 7.5 กิโลกรัมต่อไร่ 5) ปุ๋ยคอก (มูลไก่) อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยคอก (มูลไก่) อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ (กลุ่มทดลองที่ 5) มีความเหมาะสมที่สุดในการผลิตถั่วพุ่มถั่วพุ่มเมล็ดดำพันธุ์อุบลราชธานี เนื่องจากให้น้ำหนักมวลชีวภาพ จำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อฝัก น้ำหนักผลผลิตรวมเฉลี่ยของเมล็ด และเปอร์เซ็นต์การกะเทาะ มากที่สุดคือ 818 กิโลกรัมต่อไร่ 10 ฝักต่อต้น 18 เมล็ดต่อฝัก 309 กิโลกรัมต่อไร่ และ 78 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนความสูงเฉลี่ยของต้น และดัชนีการเก็บเกี่ยว มีค่าปานกลาง รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยคอก (มูลไก่) 400 กิโลกรัมต่อไร่ (กลุ่มทดลองที่ 3) มีค่าดัชนีตัวชี้วัด น้ำหนักผลผลิตมวลชีวภาพ และเปอร์เซ็นต์การกะเทาะ ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับ กลุ่มทดลองที่ 5 คือ 783 กิโลกรัมต่อไร่ และ 79 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แต่มีจำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อฝัก น้ำหนักผลผลิตรวมเฉลี่ยของเมล็ดปานกลางคือ 9 ฝักต่อต้น 17 เมล็ดต่อฝัก และ 290 กิโลกรัมต่อไร่ และแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง กับกลุ่มทดลองที่ใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว (กลุ่มทดลองที่ 2) และกลุ่มทดลองที่ไม่ใส่ปุ๋ย (กลุ่มทดลองที่ 1) ยกเว้นค่าดัชนีการเก็บเกี่ยว ทุกกลุ่มทดลองมีค่าไม่แตกต่างทางสถิติ