บทคัดย่อ
เรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืช 3 ชนิดในการควบคุมเพลี้ยอ่อน
Efficacy of Plant Extracts for Aphids Control
โดย นางสาวธีระวัลย์ วงมาเกษ
ชื่อปริญญา วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์)
ปีการศึกษา 2558
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร. สังวาล สมบูรณ์
ศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืช 3 ชนิด ในการควบคุมเพลี้ยอ่อน วางแผนการทดลองแบบ 3×3 Factorial+1 in Completely Randomized Design (CRD) โดยใช้ความเข้มข้น 5 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เวลา 24 48 และ 72 ชั่วโมงเปรียบเทียบกับ Ethyl alcohol 50% เป็นชุดควบคุม พบว่า สารสกัดจากใบดาวเรืองมีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่ 48 ชั่วโมง มีเปอร์เซ็นต์การตายเฉลี่ยของเพลี้ยอ่อนมากที่สุด คือ 88.89 เปอร์เซ็นต์ และมีค่าไม่แตกต่างทางสถิติกับชุดควบคุม ที่มีเปอร์เซ็นต์การตายเฉลี่ย 100 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ได้แก่ สารสกัดจากใบยูคาลิปตัส และสารสกัดจากใบแมงลักคา ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นของสารสกัดจากพืชที่เหมาะสมที่สุด คือ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่ 48 ชั่วโมง มีเปอร์เซ็นต์การตายเฉลี่ย 98.33 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ได้แก่ 10 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเมื่อตรวจสอบระดับและระยะเวลาของความเป็นพิษ (LC50 และ LT50) พบว่า สารสกัดจากใบดาวเรืองมีค่าน้อยที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับและระยะเวลาของความเป็นพิษมากที่สุด ดังนั้น หากต้องการแนะนำให้เกษตรกรใช้สารสกัดจากพืชในการควบคุมเพลี้ยอ่อน แนะนำให้ใช้สารสกัดจากใบดาวเรือง ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 48 ชั่วโมง สามารถทำให้เพลี้ยอ่อนตาย ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ สารสกัดจากใบยูคาลิปตัส ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สารสกัดจากใบแมงลักคาทุกความเข้มข้นมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด