ประสิทธิภาพเหยื่อล่อหอยเชอรี่จากพืช
Efficacy of Golden Apple Snail Bait from Plants
โดย นางสาวพรพิศ สมพร
ชื่อปริญญา วิทยาศาสตรบัณฑิต ( เกษตรศาสตร์ )
ปีการศึกษา 2556
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร. สังวาล สมบูรณ์
ศึกษาประสิทธิภาพในการใช้พืชชนิดต่างๆ เป็นเหยื่อล่อหอยเชอรี่ เพื่อล่อให้หอยเชอรี่กินเหยื่อมากขึ้นหรือล่อให้มารวมกลุ่มกันจำนวนมากและง่ายต่อการกำจัด วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) โดยใช้ใบผักบุ้งใบมันสำปะหลัง ใบมันเทศ และใบมะละกอเปรียบเทียบกับเหยื่อล่อสำเร็จรูปเป็นลักษณะให้หอยเชอรี่เลือกอาหาร (choice test) ผลการทดลองพบว่าเมื่อถัวเฉลี่ยระยะเวลา 12 ชั่วโมง เหยื่อล่อใบมันเทศมีประสิทธิภาพดีที่สุด สามารถล่อหอยเชอรี่ให้มารวมกลุ่มกันได้มากที่สุด เฉลี่ยคือ 39.31 % รองลงมาได้แก่ เหยื่อล่ออาหารปลาดุก ใบผักบุ้ง ใบมันสำปะหลัง และใบมะละกอ มีค่าเท่ากับ 33.49 33.46 28.24 และ 20.95 % ตามลำดับ แต่เมื่อวิเคราะห์เป็นรายชั่วโมงพบว่า การใช้เหยื่อล่อจากใบมันเทศ จะมีประสิทธิภาพดีที่สุด ภายใน 7 ชั่วโมงแรก รองลงมาคือ อาหารปลาดุก ใบผักบุ้ง และใบมันสำปะหลัง ในขณะที่เหยื่อล่อใบมะละกอ อาจต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นประมาณชั่วโมงที่ 6 ถึง 10 จึงจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด ดังนั้นถ้าต้องการประสิทธิภาพในการเป็นเหยื่อล่อหอยเชอรี่ให้มารวมตัวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัดหรือผสมกับเหยื่อพิษภายใน 6 ชั่วโมงแรก ควรเลือกใช้เหยื่อล่อใบมันเทศ แต่ถ้า 8 ชั่วโมง ขึ้นไป ควรเลือกใช้เหยื่อล่อใบมะละกอ จึงจะได้ผลดีที่สุด