บทคัดย่อ
เรื่อง ผลกระทบของพาราควอทต่อแมลงช้างปีกใส
Impacts of Paraquat on Green Lacewing
โดย นายประวิช เพ็ชรโย
ชื่อปริญญา วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์)
ปีการศึกษา 2558
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร. สังวาล สมบูรณ์
ศึกษาผลกระทบของพาราควอทต่อแมลงช้างปีกใส เพื่อประเมินหาผลกระทบของสารพาราควอทต่อการรอดชีวิตและการเจริญเติบโตของแมลงช้างปีกใส มีการวางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) ประกอบด้วย 5 กลุ่มทดลอง กลุ่มทดลอง ละ 5 ซ้ำ ซ้ำละ 10 ตัว พบว่า การใช้สารพาราควอท ในอัตรา 25 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ภายใน 24 ชั่วโมงแรก ก็มีแนวโน้มเปอร์เซ็นต์การตายเฉลี่ยของแมลงช้างปีกใสมากที่สุด คือ 50 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นเปอร์เซ็นต์การตายเฉลี่ยก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระยะเวลานานขึ้น โดยเมื่อสิ้นสุดการทดลอง (96 ชั่วโมง) การใช้สารพาราควอท อัตรา 25 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ก็ยังคงมีแนวโน้มเปอร์เซ็นต์ การตายเฉลี่ยของแมลงช้างปีกใสสูงที่สุด คือ 86 เปอร์เซ็นต์ และมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตเฉลี่ย เท่ากับ 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีค่าน้อยที่สุด ถึงแม้จะมีเปอร์เซ็นต์การกินได้เฉลี่ยปานกลาง คือ105.40 เปอร์เซ็นต์ ก็ตาม รองลงมาคือ การใช้สารพาราควอท อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีเปอร์เซ็นต์การตาย เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิต และเปอร์เซ็นต์การกินได้ของแมลงช้างปีกใสเฉลี่ย เท่ากับ 82 เปอร์เซ็นต์ 18 เปอร์เซ็นต์ และ 97 เปอร์เซ็นต์ (ที่ 96 ชั่วโมง) ตามลำดับ ในขณะที่การใช้น้ำเปล่า (ชุดควบคุม) มีเปอร์เซ็นต์การตาย เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิต และเปอร์เซ็นต์การกินได้เฉลี่ย เท่ากับ 34 เปอร์เซ็นต์ 66 เปอร์เซ็นต์ และ 119.40 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ดังนั้น การใช้สารพาราควอททุกอัตรา มีผลกระทบ ต่อการดำรงอยู่ของแมลงช้างปีกใส ทั้งหมด เพราะถึงแม้จะใช้ในความเข้มข้น หรืออัตราต่ำๆ ก็มีผลทำให้แมลงช้างปีกใสตายครึ่งหนึ่ง ของแมลงช้างปีกใสทั้งหมด ภายใน 24 ชั่วโมง